How to secure cargo inside container

1108 1477 admin

 How to secure cargo inside container

(การเพิ่มความปลอดภัยให้กับสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างการจัดส่งไปยังสถานที่ปลายทาง สามารถทำอย่างไรได้บ้าง)

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยให้กับสินค้าที่วางเรียงซ้อนกันอยู่ภายในตู้คอนเทนเนอร์ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงขณะขนส่งนั้น คือ การลดช่องว่างระหว่างผนังตู้กับสินค้า หรือ ลดช่องว่างระหว่างสินค้ากับประตู หรือ ลดช่องว่างระหว่างพาเลทกับพาเลท เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เช่น สินค้าโค่นล้มจากพาเลท การกระแทก หรือรอยขีดข่วน และรักษาสินค้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์จนกว่าจะถึงมือผู้รับปลายทาง

ซึ่งการเพิ่มความปลอดภัยให้กับสินค้าภายในตู้นั้น สามารถกระทำได้หลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับลักษณะของสินค้า หีบห่อบรรจุภัณฑ์ และวิธีการจัดเรียง ทั้งนี้จะขอยกตัวอย่างวิธีที่นิยมนำมาใช้เพิ่มความปลอดภัยให้กับสินค้า โดยสามารถแบ่งออกเป็นลักษณะต่างๆ กันได้ดังนี้

1. การผูกรัดยึดตรึงสินค้า (LASHING)

คือ การใช้สายรัด เช่น สายพลาสติก (Polyester/Nylon) ลวดเชือก ลวดสลิง หรือ โซ่ เป็นต้น ทำการ ยึดตรึงสินค้าให้ติดกับผนังตู้ หรือพื้นตู้ เพื่อป้องกันสินค้าขยับเขยื้อน หรือสินค้ากระแทกกันก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งการยึดรั้งสามารถทำได้หลากหลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะรูปร่างของสินค้า หรือ ลักษณะหีบห่อที่บรรจุ เช่น การผูกรัดแบบคาดทับ (Top-over lashing) การผูกรั้งแบบบ่วง (Loop lashing) การผูกรัดแบบยึดโยง (Spring lashing) การผูกรัดแบบรวมกลุ่ม (Round-turn lashing) และการผูกรัดโดยตรง (Direct lashing)




2. การมัดสินค้ารวมกัน (BUNDLING)

การรัดหรือมัดสินค้าเข้าไว้ด้วยกัน โดยใช้เชือกไนลอน หรือ สายรัดพลาสติก เพื่อช่วยสินค้ารวมกันอยู่เป็นก้อน ไม่ขยับเขยื้อน และยังช่วยป้องกันไม่ให้สินค้ากระแทกกันเอง




3. การค้ำยันสินค้า (SHORING)

เป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้กับสินค้าอีกรูปแบบหนึ่ง โดยนำเอาไม้ชิ้นมาขัดหรือทำเป็นที่ค้ำยันให้กับสินค้า วิธีนี้เพื่อช่วยพยุงและถ่ายเทน้ำหนักของสินค้า




4. การใช้ถุงลมป้องกันการกระแทก (DUNNAGE AIR BAG)

ถุงลมป้องกันกระแทก ช่วยในการลดช่องว่างของพื้นที่ภายในตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อป้องกันสินค้ากระแทกกัน หรือตกหล่นเสียหายระหว่างการขนส่ง ถุงลมกันกระแทกที่นิยมใช้อยู่ 3 ขนาด คือ 85x120cm 100x185cm 100x220cm ซึ่งขนาดที่จะเลือกใช้นั้นให้พิจารณาจากลักษณะของสินค้า ความสูงของพาเลท และความกว้างของช่องว่าง รวมถึงพิจารณาถึงตำแหน่งที่จัดวางถุงลมกันกระแทก เช่น หัวตู้ กลางตู้ หรือท้ายตู้




5. การปู/รองกระดาษลูกฟูก หรือ กระดาษคราฟท์ (CORRUGATED PAPER / KRAFT PAPER)

เป็นการนำเอากระดาษลูกฟูก หรือ กระดาษคราฟท์ มาปูพื้นตู้ หรือติดกระดาษรอบๆ ผนังตู้คอนเทนเนอร์ หรือปูบนหีบห่อบรรจุสินค้า ทั้งนี้เพื่อช่วยลดความชื้น ป้องกันฝุ่นละอองและสิ่งปนเปื้อน ส่วนใหญ่ใช้กับงานบรรจุสินค้าจำพวก แป้ง อาหาร หรือสินค้าที่เน้นเรื่องความสะอาด เป็นต้น




ทั้งนี้ หากท่านใดที่กำลังมองหาบริการเสริมเพิ่มความปลอดภัยให้กับสินค้าระหว่างจัดส่ง ทาง สินธนโชติ ก็มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ยาวนานคอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับด้านนี้ ซึ่งสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ (02) 398 0162 – 3 หรือ email : info@sintanachote.co.th